สภาพทั่วไป
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 ที่ตั้งถนนสุขาภิบาล 14 ตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30250 การติดต่อสื่อสาร หมายเลขโทรศัพท์ 044-445161, 044-449021 โทรสาร 044-445161 ต่อ 801 Website http://www.Korat3.go.th มีพื้นที่บริการ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง อำเภอปักธงชัย และอำเภอวังน้ำเขียว ดังนี้
อำเภอครบุรี (Amphoe KhonBuri) คำขวัญอำเภอ น้ำตกวังเต่า เขาจอมทอง สองเขื่อนงามล้ำ ถ้ำวัวแดง ศิลาแลงปรางค์ครบุรี บารมีหลวงปู่นิล มีเขตการปกครอง 12 ตำบล 152 หมู่บ้าน แยกเป็น 5 เทศบาล 10 องค์การบริหารส่วนตำบล เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภอกระโทก (อำเภอโชคชัย ในปัจจุบัน) ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอในปี พ.ศ. 2450 ซึ่งขณะนั้นมีเขตการปกครองรวม 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแชะ ตำบลจระเข้หิน และตำบลสระตะเคียน ปี พ.ศ. 2482 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ และได้ชื่อว่า “อำเภอครบุรี” โดยใช้ชื่อตำบลหนึ่งมาเป็นชื่ออำเภอ คือ ตำบลครบุรี ซึ่งเดิมเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปักธงชัย ต่อมาได้รวมเข้ากับกิ่งอำเภอแชะ และตั้งเป็น “อำเภอครบุรี” เพื่อสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน เพราะมีระยะทางใกล้กว่าโดยมีที่ว่าการอำเภอครบุรี ตั้งอยู่ที่ กิ่งอำเภอแชะเดิม และในปี พ.ศ. 2521 อำเภอครบุรี ได้มีการแยกออกไปเป็นอีก 1 อำเภอ คือ อำเภอเสิงสาง ในปัจจุบันคำว่า “ครบุรี” แปลว่าเมืองต้นน้ำ หรือเมืองสายน้ำเพราะมีแควน้ำหลายสายจึงเรียกว่า “เมืองสาครบุรี” ต่อมาคำว่า “สาครบุรี” กร่อนหายไป จึงเหลือคำว่า “ครบุรี” มาตราบจนทุกวันนี้อำเภอครบุรี ตั้งหมู่ที่ 4 ตำบลแชะอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัด 58 กิโลเมตร มีเนื้อที่คิดเป็นพื้นที่ 1,748 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,150,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเตรียมการสงวน 1,453.68 ตารางกิโลเมตร หรือ 908,612.50 ไร่ และพื้นที่นอกเขตป่าไม้ 330.32 ตารางกิโลเมตร หรือ 206,387.50 ไร่ ประชากร มีประชากรทั้งสิ้น 96,605 คน แยกเป็น ชาย 47,441 คน หญิง 49,164 คน ทรัพยากรธรรมชาติ อำเภอครบุรี มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ ลำมูลบน ลำแชะ และลำห้วยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเอง ได้แก่ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำแชะ เพื่อใช้ในการอุปโภคและประโยชน์ จากด้านเกษตร มีพื้นที่ป่าไม้สำคัญได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี ป่าดงอีจานใหญ่
อำเภอเสิงสาง (Amphoe Soeng Sang) คำขวัญอำเภอ เขื่อนลำปลายมาศ เที่ยวหาดชมตะวัน ถิ่นมันหม่อนไหม ผลไม้พืชผัก ตะเคียนยักษ์ทับลาน นมัสการหลวงปู่สอน คำว่าเสิงสาง หมายความว่า “ใกล้รุ่ง” หรือ รุ่งอรุณ ประวัติความเป็นมาของเสิงสางเป็นตำนานพื้นบ้านของชาวอีสาน ความว่า ท้าวประจิต เจ้าเมืองกัมพูชาได้ออกติดตามหานางอรพิมพ์ที่เมืองพิมาย เมื่อได้พบกันแล้วจึงพากันเดินกลับ แต่มีเหตุต้องพลัดหลงกัน และได้มาพบกันอีกครั้งที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งตอนพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น จึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านเสิงสาง” ซึ่งต่อมาได้นำมาตั้งเป็นอำเภอ เดิมอำเภอเสิงสางเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอครบุรี มีเขตการปกครอง 6 ตำบล 84 หมู่บ้าน แยกเป็น 2 เทศบาล 6 องค์การบริหารส่วนตำบล ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2519 กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะท้องที่ตำบลสระตะเคียน ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า “กิ่งอำเภอเสิงสาง” และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2522 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 90 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1,197 ตารางกิโลเมตร หรือ 748,125 ไร่ อาณาเขตติดต่อทิศเหนือติดต่อกับอำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอปะคำ อำเภอโนนดินแดง อำเภอโนนสุวรรณและอำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะภูมิประเทศสภาพพื้นที่ของอำเภอเสิงสางเป็นที่ราบสูง มีภูเขาเตี้ย ๆ ความสูงอยู่ระหว่าง 15 – 300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านที่สำคัญ 1 สายคือลำปลายมาศ ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงเล็กไหลผ่านท้องที่ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลสระตะเคียน ตำบลกุดโบสถ์ ผ่านไปเขตท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์และไหลไปบรรจบ ลำน้ำมูลที่อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ประชากรมีประชากรทั้งสิ้น 70,597 คน แยกเป็น ชาย 34,959 คน หญิง 35,638 คน
อำเภอปักธงชัย (Amphoe Pak Thong Chai) คำขวัญอำเภอ ลำพระเพลิงน้ำใส ผ้าไหมเนื้องาม ข้าวหลามนกออก ถั่วงอกวังหมี หมี่ตะคุ มีเขตการปกครอง 16 ตำบล 215 หมู่บ้าน แยกเป็น 6 เทศบาล 12 องค์การบริหารส่วนตำบล เดิมปักธงชัยเป็นเมืองโบราณตั้งแต่ขอมเรืองอำนาจ ทั้งนี้สันนิษฐานได้จากเขตอำเภอปักธงชัย มีซากปรักหักพังของปรางค์ หรือ เทวาลัยหลายแห่งที่เป็นศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่ขอมนิยมสร้างตามเมืองต่าง ๆ ที่ตนปกครองอยู่ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามความสำคัญของแต่ละเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานที่ปรากฏตามแผนที่ยุทธศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฏชื่อเมืองปัก ตั้งอยู่ใกล้เมืองนครราชสีมา ความสำคัญก็คือ เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นกองระวังหน้า คอยสอดแนมข้าศึก และคอยปะทะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ข้าศึกยกทัพประชิดเมืองนครราชสีมาเร็วเกินไป เมืองปักในสมัยนั้นจึงถูกตั้งและเรียกว่า“ด่านจะโปะ” เช่นเดียวกับ ด่านเกวียน ด่านจอหอ ด่านขุนทด เป็นต้น พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงระเบียบราชการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล เมืองปักจึงถูกยุบลงเป็นอำเภอปักธงชัย ขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา ที่ตั้งและอาณาเขตอำเภอปักธงชัย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด อยู่ห่างจากนครราชสีมา 32 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (โคราช- ปักธงชัย-กบินทร์บุรี) มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้ ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอสูงเนิน และอำเภอเมืองนครราชสีมา ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอโชคชัย และอำเภอครบุรี ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอวังน้ำเขียว ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอสูงเนิน พื้นที่ : 1,374.3 ตารางกิโลเมตร ประชากร : 117,425 คน แยกเป็น ชาย 59,211 คน หญิง 60,214 คน
อำเภอวังน้ำเขียว (Amphoe Wang Nam Khiao) คำขวัญอำเภอ วังน้ำเขียวเมืองหนาว ภูเขามากมาย น้ำตกหลากหลาย ผลไม้นานาพันธุ์ แดนสวรรค์เมืองในหมอก มีเขตการปกครอง 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน แยกเป็น 1 เทศบาล 5 องค์การบริหารส่วนตำบลสภาพธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยว สูดอากาศบริสุทธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยป่าเขา ขุนเขา สายหมอกที่สวยงาม น้ำตก ถ้ำ ให้ท่านได้มาท่องเที่ยวได้หลากหลายลักษณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาธรรมชาติ ภูมิทัศน์ แคมป์ปิ้ง ตกปลา ร่วมปลูกป่า ศึกษาชีวิตชนบทวังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ตอนใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ที่มาของชื่อ“วังน้ำเขียว” นั้นได้มาจากสภาพภูมิประเทศของที่นี่ เพราะพื้นที่ในแถบนี้มีวังน้ำ ที่ใสงดงามเป็นธรรมชาติ น้ำนั้นใสจนมองเห็นเงาสะท้อนสีเขียวของต้นไม้จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “วังน้ำเขียว” วังน้ำเขียวมีถนนเส้นหลักที่พาดผ่านอำเภอกบินทร์บุรี จากด้านจังหวัดปราจีนบุรี มีการปกครอง แยกเป็น 5 ตำบล ตำบลต่าง ๆ ประกอบด้วย ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลไทยสามัคคี ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังหมี และตำบลระเริง และมีพื้นที่ติดต่อกับ อำเภอนาดี อำเภอปักธงชัย อำเภอปากช่อง อำเภอเสิงสาง และอำเภอครบุรี พื้นที่ : 1,129.996 ตารางกิโลเมตร ประชากร: 45,265 คน แยกเป็น ชาย 22,513 คน หญิง 22,752 คน
ที่ตั้งและอาณาเขตสำนักงานเขตที่พื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 3 ประกอบด้วย อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอโชคชัย
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปากช่อง
